จุดมุ่งหมายและเนื้อหาของปรัชญา
ฮอบส์มีความคิดว่า ปรัชญามีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การนำความรู้มาใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ คือ มุ่งประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่มนุษย์นั่นเอง ความรู้ทางปรัชญาและวิชาการต่างๆ คือ อำนาจ คือสามารถทำให้มนุษย์มีอำนาจเหนือธรรมชาติ ควบคุมปรากฏการณ์ต่างๆ ในธรรมชาติได้ คุณค่าของความรู้จึงอยู่ที่ทำให้มนุษย์มีอำนาจ
ความรู้ทางปรัชญาคือความรู้เกี่ยวกับสาเหตุและผล ของปรากฏการณ์ทั้งหลาย เป็นการศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผล เนื้อหาของปรัชญาจำกัดอยู่ที่การศึกษาเกี่ยวกับสสารและการเคลื่อนที่ของสสาร ปรัชญาของฮอบส์จึงเป็นปรัชญาสสารนิยม
อภิปรัชญา
ความคิดของฮอบส์นั้นเป็นแบบสสารนิยมหรือวัตถุนิยมหรือวัตถุนิยม เชื่อว่า สิ่งที่เป็นจริงต้องมีตัวตนซึ่งได้แก่สสาร ยังถือว่าสสารต้องมีการเคลื่อนที่หรือการเคลื่อนไหว การเคลื่อนไหวของสสารทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เราสามารถศึกษาได้หลายแง่มุมจนเกิดเป็นวิชาการต่างๆ เกิดขึ้นภายใต้กฎของความเป็นเหตุเป็นผล มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว เรียกว่า กฎกลศาสตร์หรือกฎธรรมชาติ ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นโดยบังเอิญหรือโดยไม่มีสาเหตุ ฮอบส์ไม่ได้คิดว่าพระเจ้าเป็นสาเหตุแรกของสิ่งต่างๆ เพราะพระเจ้าในความหมายที่เป็นสิ่งที่ไร้ตัวตน “ไม่อาจจะเข้าใจได้” นั่นคือไร้ความหมาย หรือไร้สาระ
สสารและการเคลื่อนที่ไหวของสสารนั้นปรากฏชัดแจ้งต่อประสาทสัมผัสของเรา มันจึงเป็นสิ่งที่เรา “เข้าใจได้”
ฮอบส์อธิบายว่า การเคลื่อนไหวของสสารเป็นสาเหตุแรกของปรากฏการณ์ต่างๆ มีกฎเกณฑ์แน่นอนตายตัว เป็นคำอธิบายที่เรียกว่าเป็นแบบจักรกลนิยม คือ มองว่าทุกสิ่งในโลกดำเนินไปเหมือนการทำงานของเครื่องจักร ทุกสิ่งมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไปหมด
สำหรับจิตของมนุษย์ เป็นสสารที่ละเอียดอ่อนตั้งอยู่ที่สมอง และทำงานภายใต้กฎแห่งการเคลื่อนไหวแบบจักรกล ความคิด ความรู้สึก ความสำนึกรู้ ตลอกจนจินตนาการต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจิตนั้นเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวในสมองทั้งสิ้น ทุกอย่างในตัวมนุษย์ต้องดำเนินไปตามกฎกลสาสตร์ที่ว่างไว้แน่นอนแล้ว จิตไม่มีอิสระในการเลือกหรือตัดสินใจทำอะไรตามเจตจำนงของตนเอง ทำได้เพียงตอบสนองต่อแรงผลักดันของอำนาจจากสิ่งเร้าภายนอกเท่านั้น
เราเรียกสิ่งหนึ่งว่า “ดี” ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เราต้องการหรือพอใจ เราเรียกอีกสิ่งหนึ่งว่า “เลว” ก็เพราะมันเป็นสิ่งที่เราเกลียดหรือทำให้เราเจ็บปวด
ความคิดทางอภิปรัชญาของฮอบส์เป็นแบบวัตถุนิยมที่อธิบายความเคลื่อนไหวของปรากฏการณ์ต่างๆ ว่าดำเนินไปแบบกลไกหรือจักรกล คือมีระบบระเบียบแน่นอนตายตัว เหมือนการทำงานของเครื่องจักร ฮอบส์นำเอาความคิดจักรกลนิยมไปอธิบายการทำงานของจิตและการทำงานของมนุษย์ สิ่งที่เรียกว่า เสรีภาพหรือเจตจำนงอิสระจึงไม่มีสำหรับมนุษย์ การอธิบายการกระทำของมนุษย์และการงานของจิตมนุษย์ เราเรียกการอธิบายเรื่องนี้ของฮอบส์ว่าเป็นการอธิบายแบบนิตินิยม ปรัชญาของฮอบส์แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า วัตถุนิยมจักรกลนิยม และนิยตินิยม นั้นเดนไปด้วยกันเสมอ
ทฤษฎีความรู้หรือญาณวิทยา
แบ่งความรู้ออกเป็น 2 ชนิด คือ
ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริง เป็นความรู้ที่ได้มาโดยอาศัยประสาทสัมผัสหรืออายตนะทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย เป็นสื่อให้เราสามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้ ความรู้ที่ได้มาโดยประสาทสัมผัสนี้เป็นความรู้ที่ไม่สลับซับซ้อน ตรงไปตรงมา แต่อาจมีบิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงของวัตถุที่ถูกรู้เนื่องจากประสาทสัมผัสเราเองมีข้อบกพร่อง
ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนี้เป็นพื้นฐานสำคัญของความรู้ทางปรัชญา ความรู้เกี่ยวกับข้อเท็จจริงมี 2 ระดับ คือ ระดับที่เป็นความประทับใจทางประสาทสัมผัส คือ เป็นการสัมผัสโดยตรงระหว่างประสาทสัมผัสกับวัตถุ
ความรู้เกี่ยวกับความสืบเนื่องของสาเหตุและผล เป็นความรู้ที่ฮอบส์ถือว่าเป็นปรัชญา ปรัชญาคือความรู้เกี่ยวกับผลหรือปรากฏการณ์ที่เราได้โดยการอ้างเหตุผลที่ถูกต้องจากความรู้ที่เรามีอยู่ก่อน เกี่ยวกับสาเหตุหรือที่มาของมัน และเป็นความรู้เกี่ยวกับสาเหตุหรือที่มาที่อาจจะได้จากการรู้ผลของมันก่อน
ฮอบส์ให้ความสำคัญแก่วิธีการนิรนัย คือให้ความสำคัญแก่วิธีการทางคณิตศาสตร์ ระบบปรัชญาของฮอบส์ถูกสร้างขึ้นให้เป็นวิธีการนิรนัย วิธีการนิรนัยของฮอบส์แตกต่างจากพวกเหตุผลนิยม หลักการเบื้องต้นที่เป็นพื้นฐานของการนิรนัยต้องเป็นความรู้เชิงประจักษ์ ได้มาโดยประสบการณ์เกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั่นเอง ฮอบส์ย้ำว่า มนุษย์และวิทยาศาสตร์เป็นหนี้บุญคุณคณิตศาสตร์ความก้าวหน้าในวิชาดาราศาสตร์เกิดขึ้นได้โดยคณิตศาสตร์ และผลประโยชน์ที่ได้มาจากศาสตร์ประยุกต์ได้มาจากคณิตศาสตร์
จริยศาสตร์
เป็นความคิดแบบอัตนิยม มนุษย์กระทำทุกอย่างเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ตนเอง มนุษย์ไม่เคยทำอะไรเพื่อคนอื่นเพราะมนุษย์มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัว ความเห็นแก่ตัวของมนุษย์นี่เองที่เป็นเหตุให้มนุษย์กระทำทุกอย่างเพื่อตนเอง
ความกลัวกระตุ้นให้มนุษย์เกิดสำนึกทางจริยธรรม เกิดการรวมตัวกันเป็นสังคมเป็นรัฐที่มีผู้ที่มีอำนาจในรัฐคอยให้ความคุ้มครองความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
ปรัชญาการเมือง
ธรรมชาติของมนุษย์
มนุษย์มีความเห็นแก่ตัวต้องการเกียรติยศชื่อเสียง แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตัว จึงมีการแข่งขันกันไม่ไว้วางใจกัน มนุษย์มีความสามารถเท่าเทียมกันทั้งทางร่างกายและจิตใจ มนุษย์มีความรักตัวกลัวตายอันนี้เป็นแรงกระตุ้นให้มนุษย์ร่วมมือกันนกระทั่งสามารถรวมกันจนเกิดเป็นรัฐขึ้น
มนุษย์ในสภาวะธรรมชาติ
หมายถึง สภาวะก่อนที่จะเกิดรัฐหรือสังคมขึ้น สภาวะนี้เป็นสภาวะที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีอยู่จริงในทางประวัติศาสตร์
ฮอบส์อธิบายว่า แรงกระตุ้นที่ทำให้มนุษย์กระทำกิจกรรมต่างๆ มีอยู่สองอย่างคืออารมณ์ และเหตุผล ถ้ามนุษย์กระทำตามอารมณ์จะทำให้มนุษย์ตกอยู่ใต้สภาวะสงคราม แต่อารมณ์ก็สามารถทำให้มนุษย์เกิดความกลัวตาย เป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์ต้องการหลีกเลี่ยงมนุษย์จึงต้องการความสงบ เพราะทำให้เกิดความปลอดภัย เหตุผลทำให้มนุษย์รู้จักกฎเกณฑ์ที่นำไปสู่สันติภาพ ฮอบส์ เรียกว่า กฎธรรมชาติ เป็นกฎทางศีลธรรมที่มนุษย์สำนึกรู้ได้ด้วยเหตุผล เพื่อหนีสภาวะสงคราม เพื่อสันติภาพ เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง มนุษย์จึงร่วมมือกันทำสัญญาต่อกันขึ้นเรียกว่า สัญญาประชาคม
สัญญาประชาคม
เป็นสัญญาที่มนุษย์ร่วมกันกระทำขึ้นเพื่อมอบอำนาจและสิทธิของตนให้แก่บุคลหรือกลุ่มบุคคลหนึ่ง เป็นผู้ใช้อำนาจเพื่อยังประโยชน์ให้เกิดสันติภาพและความปลอดภัยร่วมกัน เป็นสัญญาที่จัดทำขึ้นด้วยกติกาสัญญาของทุกคนกับทุกคนในลักษณะดุจว่าทุกคนควรจะกล่าวกับทุกคนว่า ข้าพเจ้ามอบและสละสิทธิของข้าพเจ้าในการปกครองตัวเองให้แก่คนๆ นี้ หรือกลุ่มนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ท่านต้องสละสิทธิของท่านให้แก่เขาและมอบอำนาจกระทำการทั้งปวงให้แก่เขาเช่นเดียวกัน เรียกว่า จักรภพ
รัฐเกิดขึ้นด้วยความจำเป็นจากธรรมชาติของมนุษย์ คนหรือกลุ่มคนที่ได้รับมอบอำนาจ เรียกว่า องค์อธิปัตย์ เป็นผู้ทรงอำนาจสิทธิขาด ใช้อำนาจแทนคนทั้งหมด รัฐเป็นเสมือนคนๆ เดียวเป็นเอกภพ หน้าที่ขององค์อธิปัตย์คือ ออกกฎหมาย บังคับใช้กฎหมาย รักษาความสงบภายใน องค์อธิปัตย์มีสิทธิที่จะห้ามการแสดงความคิดเห็นหรือการกระทำต่างๆ ของประชาชน ประชาชนไม่มีสิทธิที่จะร้องเรียนว่า ถูกองค์อธิปัตย์กดขี่ทั้งนี้เพราะถือว่าการกระทำขององค์อธิปัตย์เป็นไปเพื่อลดความเห็นแก่ตัวของประชาชน พยายามทำให้สังคมสงบสุข ประชาชนต้องยินดียึดมั่นในสัญญาที่ให้ไว้
ที่มา : http://www.baanjomyut.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น