สำนักความคิดในทางกฎหมายธรรมชาติ (School of Natural Law)
1. ความหมาย
กฎหมายธรรมชาติ หมายถึง กฎหมายซึ่งเกิดจากธรรมชาติมีอยู่แล้วในธรรมชาติและมีอำนาจบังคับตามธรรมชาติ และด้วยเหตุที่ธรรมชาติย่อมเป็นสิ่งสากล และอยู่เหนือมนุษย์ สำนักความคิดนี้จึงเชื่อว่ากฎหมายธรรมชาติอยู่เหนือกฎหมายของมนุษย์ และใช้ได้ไม่จำกัดเวลาหรือสถานที่
โดยทั่วไปแล้ว สาระสำคัญของกฎหมายธรรมชาติอยู่ที่ข้อพิจารณาคุณค่าของการกระทำว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด คำว่า “ถูก” หรือ “ผิด” ในที่นี้หมายถึงคุณค่าทางจริยธรรม
สำหรับคำว่า “ธรรมชาติ” (nature) นั้น ปรัชญาเมธีแต่ละคนต่างมีความเห็นต่างกันออกไปดังนี้
(1) เดิมเข้าใจว่าธรรมชาติก็คือปรากฏการณ์ตามธรรมชาติ เช่น ความร้อย แสงสว่าง นั่นเอง
(2) ต่อมาเริ่มมีผู้นำความคิดเรื่องธรรมชาติไปปะปนกับคตินิยมทางศาสนาและลัทธิต่าง ๆ จึงเกิคความคิดขึ้นว่าธรรมชาติคือพระผู้เป็นเจ้า
(3) ในที่สุดก็ได้มีผู้เห็นว่าธรรมชาตินั้นคือความรู้สึกผิดชอบ ชั่วดีของมนุษย์เอง เช่น การที่รัฐออกกฎหมายมากดขี่ย่มเหงประชาชน โดยเก็บภาษีสูงหรือวางบทลงโทษที่ทารุณโหดร้ายนั้นย่อมขัดต่อความรู้สึกผิดชอบชั่วดี หรือความเป็นธรรมในสายตาของคนทั่วไป กฎหมายของมนุษย์นั้นจึงขัดต่อกฎหมายธรรมชาติ
2. กำเนิดและวิวัฒนาการ
ความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติมีเค้าเริ่มต้นมาตั้งแต่สมัยกรีก ดังจะเห็นได้จากบทละครของโสโฟคลีส (Sophocles) เรื่องแอนติโกนี (Antigone) ซึ่งแต่งขึ้นในสมัยกรีกเพื่อประชดสังคมและพรรณนาความคิดเห็นทางกฎหมายและการเมืองของปรัชญาเมธีในสมัยนั้น บทละครเรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับเหตุการณ์ตอนพระเจ้าศรีออน (Creon) ประกาศใช้กฎหมายฉบับหนึ่ง ต่อมาแอนติโกนีนางเอกของเรื่องได้คัดค้านกฎหมายของพระเจ้าศรีออนใช้กฎหมายฉบับหนึ่ง ต่อมาแอนติโกนีนางเอกของเรื่องได้คัดค้านกฎหมายของพระเจ้าศรีออนเพราะถือว่าขัดกับกฎธรรมชาติและสิทธิธรรมชาติของมนุษย์ แอนติโกนีทอุทธรณ์ว่าพี่ชายของเธอควรได้รับการปลงศพอย่างสมเกียรติ พระราชาไม่มีสิทธิห้ามญาติมิตรไปร่วมพิธีปลงศพผู้ตาย เนื้อเรื่องบทละครดังกล่าวเป็นเรื่องแปลและผิดสมัยอย่างยิ่ง เพราะชาวกรีกไม่ยอมรับทฤษฎีที่ว่ามีกฎหมายอื่นใดสูงไปกว่ากฎหมายของทางการบ้านเมืองอีก
แนวความคิดเรื่องกฎหมายธรรมชาติ (natural law) เป็นผลพลอยได้จากแนวความคิดเรื่องสิทธิธรรมชาติ (natural right) ปรัชญาเมธีในอดีตคิดค้นและกล่าวอ้างเรื่องสิทธิธรรมชาติขึ้นเพื่ออ้างชัยชนะหรือสถานะที่เหนือกว่าสิทธิตามกฎหมาย เช่น กฎหมายให้สิทธิเสรีภาพในระดับหนึ่ง แต่ปรัชญาเมธีกลับเห็นว่าสิทธิเสรีภาพในระดับนี้น้อยเกินไปควรมีมากกว่านี้ ครั้นจะอ้างสิทธิเสรีภาพในตัวบทกฎหมายอื่นใดก็เป็นอันหมดสิ้น ไม่มีให้อ้างอีกแล้ว ในที่สุดจึงต้องอ้าง “สิทธิธรรมชาติ” ซึ่งกล่าวว่าเกิดขึ้น และมีอยู่ตามธรรมชาติ กล่าวคือเกิดเอง มีมาเอง โดยไม่มีผู้ใดสร้างขึ้น และไม่ว่ามนุษย์จะไปเกิดอยู่ที่ใด เวลาใดสิทธิดังกล่าวก็ยังคงมีอยู่เป็นนิรันดร ครั้นนานเข้าเมื่อมีสิทธิธรรมชาติได้ก็มีหน้าที่ตามธรรมชาติ และคุณค่าต่าง ๆ ตามธรรมชาติเกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสาระของกฎหมายธรรมชาติ
เปลโต้ (Plato) เป็นปรัชญาเมธีคนแรกที่กล่าวอ้างถึงสิทธิธรรมชาติ แม้ไม่อาจเรียกได้ว่า เปลโต้เป็นนักกฎหมายธรรมชาติคนแรกก็ตาม ในหนังสือเรื่อง “อุตมรัฐ” และ “กฎหมาย” เปลโต้ได้กล่าวถึงสิทธิธรรมชาติในความหมายว่า “สิ่งซึ่งถูกต้องเป็นธรรม” (something which is by nature just) เปลโต้ให้บทวิเคราะห์ศัพท์คำว่า “ความถูกต้องเป็นธรรม” (justice) ว่าหมายถึง การประพฤติปฏิบัติกิจของตนอย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย
ด้วยเหตุนี้ สิทธิธรรมชาติจึงเป็นสิทธิที่ถูกต้องเป็นธรรมหรือควบคุมความประพฤติและการปฏิบัติกิจของมนุษย์ให้เป็นระเบียบและเรียบร้อย แนวความคิดนี้มีส่วนสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับ จริยศาสตร์มากกว่านิติศาสตร์ จึงมีผู้กล่าวว่าแม้เปลโต้จะกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้แต่ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของเรื่องสิทธิธรรมชาติ ดังที่เข้าใจกันในเวลาต่อมา
ปรัชญาเมธีคนต่อมาที่กล่าวถึงสิทธิธรรมชาติไว้ค่อนข้างใกล้เคียงกับความเข้าใจในปัจจุบัน คือ อริสโตเติล (Aristotle) ในหนังสือเรื่อง “จริยศาสตร์” (Ethies หรือ Nicomachean Ethics) อริสโตเติลได้อธิบายว่า สิทธิธรรมชาตินั้นมีอยู่จริง และเป็นสิทธิที่สถิติอยู่ทุกแห่งหน ทั้งปรากฎอยู่โดยไม่ต้องมีโองการหรือประกาศใด (Natural right is that right which has everywhere the same power and does not owe its validity to human enactment) อริสโตเติลกล่าวต่อไปว่า สิทธิตามกฎหมายบ้านเมือง (positive right) อาจมีมากหรือน้อยสุดแท้แต่ว่าเป็นอาณาจักรใด ปกครองด้วยระบบใด เช่น ประชาธิปไตยหรือคณาธิปไตย แต่สิทธิธรรมชาติย่อมเป็นสากลและเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในทุกอาณาจักรและทุกระบบการปกครอง
แนวความคิดเรื่องกฎหมรยธรรมชาติเริ่มเป็นระเบียบและวางรากฐานเป็นครั้งแรกในปลายสมัยกรีก เมื่อพวกสตออิค (Stoic) รุ่งเรืองขึ้น จนแผ่ขยายอิทธิพลเข้าไปในโรมนักปรัชญาโรมันในสมัยนั้น ยอมรับความคิดนี้โดยมุ่งจะใช้เป็นข้อต่อรองหรือทุ่มเถียงกับผู้ปกครอง ซึ่งก้าวล่วงสิทธิของพลเมือง ซิเซโร (Cicero) เป็นนักปรัชญาคนสำคัญซึ่งอธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือชื่อ “กฎหมาย” (Laws) “สาธารณรัฐ” (Republic) “ธรรมชาติของพระเจ้า” (On the Nature of the Gods) และ “ความสิ้นสุดของความดีและสิ่งเลวร้าย” (On the End of the Good and Bad Things)
ไกอุส (Gaius) เป็นปรัชญาเมธีคนต่อมาที่กล่าวถึง “กฎหมายอันเป็นสากล” (Jusgentium) ซึ่งคงหมายถึง “กฎหมายธรรมชาติ” (Jus naturale) นั่นเอง แนวความคิดนี้มีอิทธิพลมากต่อการจัดทำประมวลกฎหมายของพระเจ้าจัสติเนี่ยนในเวลาต่อมา
คำว่า “Jus gentium” แปลว่า กฎหมายของประเทศต่าง ๆ (Law of nations) ซึ่งหมายถึงหลักกฎหมายที่นานาประเทศยอมรับนับถือว่าเป็นธรรมนั่นเอง หลักกฎหมายนี้คงตรงกับหลัก “equity” ในกฎหมายอังกฤษ “Jus gentium” ตรงกันข้ามกับคำว่า “Jus civile” ซึ่งหมายถึงกฎหมายที่บังคับใช้แก่พลเมืองในรัฐเท่านั้น ฉะนั้นในทรรศนะของปรัชญาเมธีชาวโรมัน “Jus civile” ย่อมแตกต่างกันไปตามรัฐต่าง ๆ ในขณะที่ “Jus gentium” ย่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั่วไป นักปรัชญาในสมัยต่อมานิยมอ้างว่า “Jus gentium” คือกฎหมายธรรมชาติเพราะมีลักษณะเป็นสากล ส่วน “Jus civile” คือกฎหมายบ้านเมืองเพราะมีลักษณะเฉพาะ แต่บางครั้งก็ตีความกันไปว่า “Jus gentium” คือกฎหมายระหว่างประเทศ ส่วน “Jus civile” คือกฎหมายภายใน
ในสมัยกลางคริสต์ศาสนาเริ่มรุ่งเรืองขึ้น ศูนย์กลางของคริสต์ศาสนาอยู่ที่กรุงโรมซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปา (Pope) พระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 7 เป็นปรัชญาเมธีคนแรกที่กล่าวอ้างถึงกฎหมายธรรมชาติว่ามีอยู่จริง แต่เป็นกฎหมายตามคำสอนในทางคริสต์ศาสนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งนิกายโรมันคาธอลิค กล่าวอีกนัยหนึ่งคำว่า “ธรรมชาติ” (nature) ในที่นี้ก็คือ “พระผู้เป็นเจ้า” (God) นั่นเอง
นักบุญโธมัส อไควนัส (St. Thomas Aquinas) เป็นปรัชญาเมธีทางกฎหมายธรรมชาติที่สำคัญอีกผู้หนึ่ง นักบุญผู้นี้อธิบายปรัชญากฎหมายธรรมชาติอย่างละเอียดชัดเจนที่สุดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน อไควนัส กล่าวว่ากฎหมายของมนุษย์ที่ขัดหรือแย้งต่อกฎหมายธรรมชาติย่อมไม่มีสภาพบังคับอย่างกฎหมาย (A human law that disagrees with natural law does not have the force of law) อไควนัสยืนยันในความคิดเห็นของพระสันตะปาปาเกรกอรี่ที่ 7 ที่ว่ากฎหมายธรรมชาติคือกฎหมายของพระผู้เป็นเจ้า โดยอธิบายว่า บัญญัติสิบประการในคริสต์ศาสนาเป็นแม่บทของกฎหมายทั่วโลกหรือเป็นบทบัญญัติสากล กล่าวได้ว่า อไควนัสเป็นผู้นำเอาทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติเข้ามารวมกับหลักธรรมในทางคริสศาสนา และได้วางรากฐานเป็นปึกแผ่นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
ทฤษฎีกฎหมายธรรมชาติเป็นที่นิยมกันมาก และถูกนำมาสนับสนุนความเห็นของผู้อ้างมาก นับแต่สมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา (Renaissance) เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการก่อการปฏิวัติเพื่อล้มล้างอำนาจอธรรมของประมุข ไม่ว่าในอเมริกา เมื่อ ค.ศ. 1776 ในฝรั่งเศส เมื่อ ค.ศ. 1789 หรือในรุสเซีย เมื่อ ค.ศ. 1917 ก็ตาม
ที่มา : http://mommamsoftware.fix.gs
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น