พระบิดาแห่งกฎหมายไทย
พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หรือ พระนามเดิมว่าพระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ เป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๑๔ ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว(รัชกาลที่ ๕) กับ เจ้าจอมมารดากลับ ประสูติเมื่อวันพุธที่ ๒๑ ตุลาคม ๒๔๑๗ ทรงเข้ารับการศึกษาวิชาภาษาไทยครั้งแรกที่สำนักพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อยอาจารยางกูร) และทรงศึกษาภาษาอังกฤษขั้นต้นในสำนักครูรามสามิ จากนั้นไปศึกษาภาษาไทยต่อที่สำนักพระยาโอวาทวรกิจ (แก่นเปรียญ) และโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบโดยมีเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) เป็นอาจารย์ผู้สอน เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๑๐ ชันษา ทรงเข้าพิธีโสกันต์ ในปีถัดมาทรงผนวชเป็นสามเณรที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ระหว่างที่ทรงผนวชได้แสดงให้เห็นถึงพระปรีชาสามารถที่เหนือกว่าบุคคลทั่วไป ด้วยทรงจำพระวินัยสงฆ์ได้อย่างแม่นยำชนิดพระสงฆ์ที่บวชเรียนมาแล้วหลายพรรษา ก็ยังไม่สามารถท่องจำวินัยสงฆ์ได้แม่นยำเช่นพระองค์ท่าน
หลังจากทรงลาผนวชแล้วได้เสด็จไปศึกษาต่อ ณ โรงเรียนมัธยมกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เป็นเวลา ๓ ปี พระองค์ทรงสอบเรียนต่อกฎหมายที่มหาวิทยาลัยออกฟอร์ดได้ด้วยพระชนมายุเพียง แค่ ๑๔ ชันษา แต่ทางมหาวิทยาลัยไม่ยอมให้ทรงเข้าศึกษาต่อ เนื่องจากติดข้อบังคับที่ว่าพระชนมายุไม่ถึง ๑๘ ชันษา แต่ทรงเสด็จไปขอร้องเป็นกรณีพิเศษต่อทางมหาวิทยาลัยโดยอ้างว่า “คนไทยเกิดง่ายตายเร็ว” สุดท้ายมหาวิทยาลัยยินยอมให้สอบอีกครั้ง ซึ่งทรงสอบได้และศึกษาต่อจนจบหลักสูตรปริญญาตรีด้านกฎหมายชั้นเกียรตินิยม ภายในเวลา ๓ ปี ด้วย พระชนมายุเพียง ๑๗ ชันษาเท่านั้น นับเป็นบัณฑิตที่มีอายุน้อยที่สุด
เมื่อเสด็จกลับมาเมืองไทยทรงเข้ารับราชการที่กรม ราชเลขานุการ ไม่ช้าก็ทรงสามารถทำงานได้ทุกตำแหน่งในกรม จนเป็นที่ยกย่องของข้าราชการในกรมอย่างยิ่ง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี ในขณะเดียวกันทรงมีตำแหน่งเป็นสภานายกพิเศษจัดตั้งศาลมณฑลและศาลเมือง (ศาลจังหวัด) ขึ้นในท้องที่ต่าง ๆ โดยทรงจัดตั้งศาลหัวเมืองในมณฑลอยุธยาขึ้นเป็นแห่งแรก แม้ว่าในช่วงเวลานั้นจะมีคดีความในศาลคั่งค้างอยู่มาก แต่ก็ทรงตัดชำระความด้วยพระองค์เองจนเสร็จสิ้นภายในเวลาอันรวดเร็วได้อย่าง ถูกต้องและเที่ยงธรรม สร้างความเลื่อมใสและศรัทธาแก่ประชาชนทุกคน
จากพระวิริยะอุตสาหะ ตลอดจนพระปรีชาสามารถที่ได้ทรงงานเพื่อพัฒนาวงการศาลยุติธรรมไทยให้ได้ มาตรฐานสากล ครั้นเมื่อตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมว่างลงเสนาบดีชั้นผู้ใหญ่ต่างเห็น พ้องต้องกันในการทูลเกล้าฯถวายพระนามพระองค์ท่านขึ้นเป็นเสนาบดีกระทรวง ยุติธรรม ด้วยพระชนมายุเพียง ๒๒ ชันษาเท่านั้น นับเป็นเสนาบดีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์โลกก็ ว่าได้ แต่ด้วยพระอัจฉริยภาพตลอดระยะเวลา ๑๔ ปี ระหว่างดำรงตำแหน่งเสนาบดีได้ทรงมุ่งมั่นในการปรับปรุงแก้ไขระเบียบศาล และงานยุติธรรมของประเทศไทยให้มีความเจริญรุดหน้าเทียบเท่านานาอารยประเทศ จนทำให้กระบวนการยุติธรรมไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องตลอดมา ด้วยพระปณิธานสูงสุดในการทรงงาน ๒ ประการ คือ การมีผู้พิพากษาที่ดีมีคุณธรรม กับการพัฒนากฎหมายไทย
ทรงเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนกฎหมายขึ้นในประเทศไทยเป็น ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๐ โดยให้เหตุผลในการก่อตั้งว่า การที่จะดำเนินการกระบวนการยุติธรรมให้เป็นไปอย่างราบรื่นจำเป็นต้องมีจำนวน ผู้มีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มขึ้น และวิธีการที่จะทำให้มีผู้รู้กฎหมายมากขึ้นคือ การเปิดสอนวิชากฎหมายให้เป็นที่แพร่หลาย จึงเป็นที่มาของโรงเรียนสอนกฎหมาย แต่ในขณะนั้นประเทศไทยยังขาดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมาย พระองค์จำเป็นต้องคัดเลือกและสอนนักเรียนด้วยพระองค์เองทุกวิชา พ.ศ. ๒๔๔๐ ได้มีการสอบไล่เป็นเนติบัณฑิตขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อให้เนติบัณฑิตเหล่านี้นำความรู้ที่เรียนมาไปรับราชการเป็นการช่วยแบ่ง เบาพระภาระที่มีจำนวนมาก
ปัญหาอีกประการหนึ่งสำหรับศาลไทยในเวลานั้น คือ การเพิ่มจำนวนของศาลกงสุลต่างชาติใน เมืองไทย ดังนั้น เมื่อเกิดคดีความ หรือข้อโต้แย้งระหว่างชาวต่างชาติกับคนไทยขึ้น คนไทยมักตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะชาวต่างชาติอ้างว่ากฎหมายไทยล้าหลังไม่ ทันสมัย ต้องขึ้นศาลกงศุลต่างชาติเพื่อพิจารณาคดี ทั้งนี้ สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้พิพากษาและเจ้าหน้าที่ศาลไทยยังไม่พร้อมที่จะ รับข้อกฎหมายใหม่ๆ ในเวลานั้น พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ทรงแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการจ้างชาวต่างชาติมาเป็น ผู้พิพากษา ส่งผลให้ผู้พิพากษาศาลไทยเกิดความกระตือรือร้นเร่งศึกษาวิชากฎหมายไทยและ ต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้ศาลไทยได้รับความเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติ ถึงกับมีการยกเลิกศาลกงสุลและยินยอมให้คนชาติมาขึ้นศาลไทย
สำหรับการแก้ไขตัวบทกฎหมายนั้น พระองค์ทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวให้โปรด เกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ตรวจชำระพระราชกำหนด บทพระอัยการ ตลอดจนจัดระเบียบกฎหมายที่ใช้มาเป็นเวลานานจนล้าสมัย เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสศึกษาและเข้าใจตัวกฎหมายได้ง่ายขึ้น และเพื่อสะดวกต่อการพิจารณาคดี คณะกรรมการชุดที่ว่านี้ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายทั้งฝ่ายไทยและต่างประเทศ โดยทรงเป็นองค์ประธานคณะกรรมการในการชำระกฎหมายด้วยพระองค์เอง จนประสบความสำเร็จเป็นประมวลกฎหมายไทยฉบับแรก ทั้งนี้ เมื่อมีการประกาศการใช้กฎหมายแล้ว ยังได้ทรงเขียนอธิบายตัวบทกฎหมายให้มีความเข้าใจได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อสะดวกต่อการศึกษาและให้มีการตีความที่ตรงกับเจตนารมณ์ของผู้ร่างอันถือ เป็นรากฐานสำคัญของการก่อตั้งวิชานิติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในปัจจุบัน ต่อมาคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังได้ตรากฎหมายขึ้นมาใช้อีกหลายฉบับจนกระทั่ง ได้ยกฐานะเป็นกรมร่างกฎหมายและพัฒนากลายมาเป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาในปัจจุบัน
ผลจากการที่ทรงงานอย่างหนักเพื่อประเทศมาเป็นระยะเวลานาน พระองค์ทรงประชวรในปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ด้วยพระอาการปวดพระเศียร จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดี แม้ว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดเกล้าฯให้ทรงหยุดพักรักษาพระองค์ได้ แต่พระอาการประชวรยังไม่ดีขึ้น ถึงกระนั้นก็ตามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) พระองค์ท่านก็ยังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเสนาบดีกระทรวงเกษตราธิราชในปี พ.ศ. ๒๔๔๕ และทรงเลื่อนพระอิสริยะศักดิ์เป็นพระเจ้าพี่ยาเธอกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ ในปีเดียวกัน พระองค์ทรงประชวรหนักขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ด้วยโรควัณโรคที่พระวักกะจำเป็นต้องเสด็จไปรักษาพระองค์ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส และสิ้นพระชนม์ที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๔๖๓ รวมพระชนมายุได้ ๔๗ ชันษา นับว่าเป็นการสูญเสียที่สร้างความเศร้าโศกเสียใจแก่ประชาชนและข้าราชการศาล ยุติธรรมเป็นอย่างยิ่ง
เพื่อเป็นการระลึกถึงคุณงามความดีของพระองค์ เนติบัณฑิตยสภากำหนดให้วันที่ ๗ สิงหาคมเป็น “วันรพี” พร้อมทั้งจัดงานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุสรณ์เป็นประจำทุกปีจนถึงทุกวันนี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
* สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น