LAW FOOTBALL CLUB

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

ประเภทกฎมายในประเทศไทย









ประเภทกฎหมายในไทย


                การแบ่งแยกประเภทของกฎหมาย กฎหมายแบ่งแยกตามข้อความของกฎหมายได้เป็น 3 ประเภท

(1)   กฎหมายมหาชน (Public Law)

(2)   กฎหมายเอกชน (Private Law)

(3)   กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)



           1.  กฎหมายมหาชน (Public Law)  ได้แก่  กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐหรือหน่วยงานของรัฐกับราษฎร  ในฐานะที่เป็นฝ่ายปกครองราษฎร  กล่าวคือในฐานะที่รัฐมีฐานะเหนือราษฎร แบ่งแยกสาขากฎหมายมหาชนได้  ดังนี้

 (1)   รัฐธรรมนูญ

(2)   กฎหมายปกครอง

(3)   กฎหมายอาญา

(4)   กฎหมายว่าด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม

(5)   กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา

(6)   กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง



            2.  กฎหมายเอกชน (Private Law)  ได้แก่ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนด้วยกันในฐานะเท่าเทียมกัน เช่นเรื่องสัญญาซื้อขาย  ก. ทำสัญญาซื้อขายกับ ข.   ก. กับ ข. ต่างก็อยู่ในฐานะเท่าเทียมกัน  ก. จะบังคับ ข. ให้ตกลงกับ ก. อย่างใด ๆ โดย ข. ไม่สมัครใจไม่ได้  มีข้อที่ควรสังเกตว่าในบางกรณีรัฐก็ได้เข้ามาทำสัญญากับราษฎร ในฐานะที่รัฐเป็นราษฎรได้  ซึ่งก็ต้องมีความสัมพันธ์เหมือนสัญญาซื้อขายระหว่างบุคคลธรรมดา  กฎหมายเอกชนที่กล่าวไว้ในที่นี้  ได้แก่  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  และกฎหมายอื่น ๆ โดยสรุป

(1) ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มีลักษณะเป็นประมวลกฎหมายแบ่งแยกออกเป็นหลายลักษณะด้วยกัน  เช่น  นิติกรรมสัญญา  หนี้  ซื้อขาย  เช่าทรัพย์  เช่าซื้อ  ละเมิด  ตัวแทน  นายหน้า  เป็นต้น  ในแต่ละลักษณะได้กำหนดรายละเอียดต่าง ๆ ไว้  ในการศึกษากฎหมายของนักศึกษาคณะนิติศาสตร์แทบทุกมหาวิทยาลัย  จะมีการศึกษาถึงเนื้อหารายละเอียดในกฎหมายนั้น ๆ แต่ละลักษณะ  แต่ในที่นี้ที่กล่าวถึงไว้ก็เพียงเพื่อให้ทราบว่า  ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชน เท่านั้น

(2) กฎหมายอื่น ๆ กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างเอกชนต่อเอกชนในฐานะเท่าเทียมกัน  อันมีลักษณะเป็นกฎหมายเอกชนยังมีอยู่อีกมาก  อันได้แก่พระราชบัญญัติที่มีลักษณะพิเศษอื่น  อย่างเช่น  ประมวลกฎหมายที่ดิน  ซึ่งจำกัดสิทธิในการมีที่ดินของบุคคลบางประเภท  เช่น คนต่างด้าว  เป็นต้น  พระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา  พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ซึ่งมีลักษณะเป็นกึ่งกฎหมายมหาชนและกึ่งกฎหมายเอกชน  เพราะมีบทบัญญัติให้เจ้าพนักงานเข้าไปเกี่ยวข้อง เช่น เป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแรงงานระหว่างลูกจ้างและนายจ้าง 


          3.  กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)  หมายถึง กฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกัน  และแบ่งแยกออกตามความสัมพันธ์ได้  3  สาขา คือ

                         (1) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง  ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในฐานะที่รัฐเป็นบุคคลตามกฎหมายระหว่างประเทศ  เช่น กำหนดข้อบังคับการทำสงครามระหว่างกันและกัน

                        (2) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล  ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันในทางคดีบุคคล คือ ในทางเอกชนหรือในทางแพ่ง  กฎหมายนี้จะกำหนดว่าถ้าข้อเท็จจริงพัวพันกับต่างประเทศในทางใดทางหนึ่ง เช่น การสมรสกับหญิงที่เป็นคนต่างด้าว หรือการซื้อขายของที่อยู่ในต่างประเทศจะใช้กฎหมายภายในประเทศ  (คือกฎหมายไทย) หรืออาจใช้กฎหมายต่างประเทศบังคับแก่คดีนั้น ๆ

                        (3) กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีอาญา  ซึ่งกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐด้วยกันทางคดีอาญา  เช่น กำหนดว่าการกระทำความผิดนอกประเทศในลักษณะใดบ้างจะพึงฟ้องร้องในประเทศไทย ตลอดจนวิธีส่งผู้ร้ายข้ามแดน เป็นต้น

ที่มา :  ttp://www.oknation.net/blog/print.php?id=195836

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น