LAW FOOTBALL CLUB

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2555

กฎหมายกับจารีตประเพณี

กฎหมายกับจารีตประเพณีมีความแตกต่างกันดังนี้
          กฎหมายเป็นข้อบังคับของรัฐ แต่จารีตประเพณีเป็นข้อบังคับของชนชั้นใดชั้นหนึ่งหรืออาชีพใดอาชีพหนึ่งเท่านั้น การกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้กระทำจะมีความผิดและถูกลงโทษ แต่การกระทำความผิดหรือฝ่าฝืนจารีตประเพณีจะได้รับเพียงการติเตียนจากสังคมเท่านั้น กฎหมายเป็นข้อกำหนดความประพฤติของมนุษย์เพียงบางอย่างเท่านั้น แต่จารีตประเพณีครอบคลุมการดำรงชีวิตของมนุษย์ทั้งหมด ความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายกับศีลธรรม ศาสนา และจารีตประเพณี มีหลายประการด้วยกัน แต่กฎหมายและจารีตประเพณีต่างก็เป็นกฎเกณฑ์ที่จัดระเบียบของสังคมเหมือนกัน มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สังคมมีความสงบสุข  ซึ่งกฎหมายอาจมีลักษณะแตกต่างจากฎเกณฑ์อื่นอยู่บ้างตรงที่กฎหมายมีโทษที่ค่อนข้างรุนแรงและเด็ดขาดกว่า สามารถนำมาบังคับใช้ให้เกิดผลที่เป็นรูปธรรมได้ดีกว่า นอกจากนั้นแล้วกฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ที่ไม่อาจสามารถเกิดขึ้นเองได้เหมือนกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ เช่น ฝนตก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า แต่กฎหมายมีจุดกำเนิดหรือที่มาของกฎหมายจากศีลธรรม ศาสนา และจารีตประเพณี ในเรื่องของศีลธรรมที่เรานำมาใช้เป็นที่มาของกฎหมาย เช่น การที่สามีภริยาไม่มีความซื่อสัตย์ต่อกัน โดยภริยาไปมีชู้ซึ่งเป็นเรื่องผิดศีลธรรม กฎหมายก็อาจจะบัญญัติถึงผลของการมีชู้ว่าให้สามีฟ้องหย่าจากภรรยาได้เป็นต้น สำหรับศาสนานั้นก็อาจจะมีข้อห้ามของศาสนาที่นำเอามาบัญญัติไว้ในกฎหมาย เช่น ศาสนาพุทธ การห้ามลักทรัพย์ที่มีอยู่ในศีล 5 ก็นำมาบัญญัติไว้เป็นกฎหมายได้







ที่มา : http://www.baanjomyut.com

สิทธิมนุษยชนในกระแสโลกาภิวัตน์

          สิทธิมนุษยชน (Human Rights) หมายความถึง สิทธิความเป็นมนุษย์หรือสิทธิในความเป็นคนอันเป็นสิทธิตามธรรมชาติของมนุษย์ทุกคนที่เกิดมา สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิที่ไม่สามารถโอนให้แก่กันได้ และไม่มีบุคคล องค์กร หรือแม้แต่รัฐ สามารถล่วงละเมิดความเป็นมนุษย์นี้ได้ สิทธิในความเป็นมนุษย์นี้เป็นของคนทุกคนไม่เลือกว่าจะมีเชื้อชาติ แหล่งกำเนิด เพศ อายุ สีผิว ที่แตกต่างกันหรือจะยากดีมีจนหรือเป็นคนพิการ สิทธิมนุษยชนนั้นไม่มีพรมแดน การกระทำใดที่มนุษย์กระทำต่อกันอย่างหยามเกียรติและละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นคน ไม่ว่าจะเกิดแก่มนุษย์ที่ประเทศใดและไม่ว่าผู้กระทำการละเมิดจะเป็นบุคคล กลุ่มบุคคล หรือรัฐใดรัฐหนึ่งก็ตาม ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะเข้าใจความหมายของสิทธิมนุษยชนนั้นจำเป็นต้องเข้าใจหลักการต่างๆที่ถือเป็นองค์รวมของสิทธิมนุษยชนด้วย คือ 1) สิทธิ (Rights)
สิทธิเป็นสิ่งที่ติดตัวมนุษย์ทุกคนตามธรรมชาติที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ซึ่งไม่มีใครล่วงละเมิดได้คนทุกคนที่เกิดมามีสิทธิที่จะมีชีวิตอยู่รอดและต้องมีชีวิตอยู่อย่างสมเกียรติและศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ความมีอยู่ของสิทธิตามธรรมชาตินี้ แม้เมื่อยังไม่มีกฎหมายมารองรับ สิทธิก็ยังมีอยู่
2) เสรีภาพ (Freedom)
เสรีภาพหมายถึง การที่มนุษย์สามารถทำอะไรก็ได้ภายใต้ขอบเขตของ ศีลธรรมอันดีงาม โดยไม่เบียดเบียนสังคม หรือไม่ล่วงล้ำสิทธิของบุคคลอื่น หรือสิทธิของส่วนรวม เราจึงเห็นว่ามีการใช้คำ 2 คำนี้พร้อมกัน คือสิทธิ และเสรีภาพ ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (Universal Declaration of Human Rights) มักจะใช้คำว่าสิทธิและเสรีภาพที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออก หรือสิทธิและเสรีภาพในการเลือกคู่ครองและสร้างครอบครัว เป็นต้น
3) ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (Human Dignity)
ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นคำที่อธิบายความหมายของสิทธิมนุษยชน ในแง่ของการให้คุณค่าแก่ความเป็นคนว่า คนทุกคนมีคุณค่าเท่าเทียมกัน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เป็นหลักการสำคัญของสิทธิมนุษยชนที่กำหนดสิทธิที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด ใครจะละเมิดไม่ได้ และไม่สามารถ่ายโอนให้แก่กันได้ สิทธินี้คือสิทธิในการมีชีวิตและมีความมั่นคงในการมีชีวิตอยู่ คนทุกคนที่เกิดมาบนโลกมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ดังนั้นการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมจึงต้องเคารพความเป็นมนุษย์ ห้ามทำร้ายร่างกาย ทรมานอย่างโหดร้าย หรือกระทำการใดๆ ที่ถือเป็นการเหยียดหยามความเป็นมนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ได้รับการรับรองไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศ อนุสัญญา และปฏิญญาระหว่างประเทศหลายฉบับสังคมปัจจุบันมักละเลยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะมีการให้คุณค่าของคนแตกต่างกัน สังคมทั่วไปให้คุณค่าของความเป็นคนที่สถานภาพทางสังคมของผู้นั้น เช่น เป็นกำนัน เป็นนายทหาร เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นผู้พิพากษา สถานภาพทางสังคมของคนแต่ละคน ไม่ใช่ตัวชี้วัดว่ามนุษย์หรือคนคนนั้นมีศักดิ์ศรีของมนุษย์หรือไม่ แต่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คือการให้คุณค่าความเป็นคนตามธรรมชาติของมนุษย์ไม่ว่าจะเกิดมาพิการ เป็นเด็ก เป็นผู้หญิง ผู้ชาย กะเทย เกิดมาเป็นคนปัญญาอ่อน หรือยากจน คนทุกคนที่เกิดมาถือว่ามีคุณค่าเท่ากัน ต้องปฏิบัติต่อกันเยี่ยงมนุษย์อย่างเสมอหน้ากัน เพราะการปฏิบัติต่อกันของผู้คนในสังคมอย่างเสมอหน้ากันเป็นการเคารพศักดิ์ศรีมนุษย์
4) ความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ (Equality and Discrimination)
เกณฑ์การวัดว่าสังคมหนึ่งสังคมใดมีการละเมิดหรือเคารพสิทธิมนุษยชนก็คือ การดูว่าสังคมนั้นมีการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หรือไม่ ตัวชี้วัดของการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็คือ ความเสมอภาค หรือการปฏิบัติต่อคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หากมีการปฏิบัติต่อมนุษย์โดยไม่เท่าเทียมกัน เราเรียกว่า การเลือกปฏิบัติความเสมอภาคหรือความเท่าเทียมกัน มิใช่แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่านั้น แต่หมายความว่า ในสถานการณ์ที่เหมือนกันจะต้องปฏิบัติต่อคนด้วยหลักการเดียวกัน เช่น การประกาศรับนักเรียนเข้าเรียนประถมศึกษาในโรงเรียนของรัฐนั้น ต้องเป็นการประกาศแก่บุคคลทั่วไปที่มีบุตรอายุครบตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น เด็กทุกคนที่อายุครบ 7 ปี มีสิทธิสมัครสอบเข้าเรียนชั้น ป.1 เป็นต้น โรงเรียนจะประกาศว่า โรงเรียนจะรับเด็กที่พ่อแม่มีอุปการคุณเข้าโรงเรียน โดยเด็กไม่ต้องสอบเข้าเหมือนเด็กคนอื่นไม่ได้ หากโรงเรียนประกาศในลักษณะเช่นนี้ เท่ากับเป็นการใช้หลักเกณฑ์ที่ต่างกันต่อการปฏิบัติในสถานการณ์ที่เหมือนกัน ถือเป็นการเลือกปฏิบัติส่วนที่กล่าวว่าความเท่าเทียมกัน หรือเสมอภาคกันนั้น ไม่ได้แปลว่าคนทุกคนต้องได้รับเท่ากัน แต่หมายความว่า ในสถานการณ์เดียวกัน อาจมีการได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างกันได้ เพราะข้อจำกัดหรือความจำเป็นของบุคคลนั้น ซึ่งไม่ถือว่าเป็นการไม่เสมอภาคหรือเป็นการเลือกปฏิบัติ เช่น รัฐบาลประกาศว่าคนทุกคนที่มีรายได้จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐเท่ากันทุกคน โดยไม่ต้องคำนึงว่าใครจะมีรายได้มากน้อยเท่าใด โดยรัฐจะอ้างว่านี่คือการใช้เกณฑ์เดียวกัน ปฏิบัติต่อคนทุกคนเสมอหน้ากันหรือรัฐจะออกกฎหมายให้คนทุกคนอยู่บ้านการเคหะที่รัฐจัดหาไว้ให้ เพื่อแสดงว่าคนทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเสมอหน้ากัน ย่อมไม่ใช่การอธิบายหลักของความเสมอภาค เพราะในความเป็นจริง การเสียภาษีให้แก่รัฐตามกำลังแห่งรายได้ของบุคคลนั้น ย่อมเกิดความเป็นธรรมแก่ผู้มีรายได้ทุกคน มิใช่ให้คนที่มีรายได้น้อยต้องเสียภาษีเท่าคนที่มีรายได้มาก ดังนั้น ตามหลักการเรื่องความเสมอภาคนั้น จึงต้องเป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริง 2 ชุด หรือกรณีบุคคล 2 คน หรือกลุ่ม 2 กลุ่ม โดยนำข้อเท็จจริงทั้งสองมาเปรียบเทียบกัน โดยยึดถือสาระสำคัญของเรื่องนั้นๆ เป็นจุดโยงในการเปรียบเทียบ ซึ่งอะไรถือเป็นสาระสำคัญของเรื่องหรือกรณีนั้นๆ ต้องพิจารณาเป็นกรณีไป เพราะความเหมือนหรือแตกต่างกันในสาระสำคัญของกรณีนั้นจะเกี่ยวพันถึงความสามารถที่จะต้องปฏิบัติให้แตกต่างหรือเหมือนกัน เช่น กรณีการเสียภาษีให้แก่รัฐดังกล่าวข้างต้น สาระสำคัญของกรณีนี้คือ รายได้ของแต่ละบุคคลไม่เท่ากัน จึงต้องเสียภาษีตามสัดส่วนของรายได้ที่ตนได้รับ จึงเกิดความเป็นธรรม เสมอภาคกัน ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ หรือในกรณีคนพิการที่รัฐต้องมีบริการเป็นพิเศษ เพื่อให้คนพิการสามารถได้รับบริการง่ายขึ้นนั้น ไม่ถือว่ารัฐเลือกปฏิบัติต่อคนปกติ เพราะสาระสำคัญของกรณีนี้คือ คนพิการไม่สามารเข้าถึงบริการของรัฐได้เช่นคนปกติ จึงต้องมีวิธีการพิเศษที่ทำให้คนพิการเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและเป็นธรรมแก่คนพิการ เช่น กรณีกรุงเทพมหานครจัดลิฟต์ให้คนพิการที่สถานีรถไฟฟ้า BTS หรือมีทางเท้าที่มีทางลาดให้คนพิการที่นั่งรถเข็นสามารถขึ้น-ลง ทางเท้าได้โดยง่าย เป็นการอำนวยความสะดวกให้คนพิการ ถือว่าเป็นการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีสาระสำคัญแตกต่างกัน โดยไม่เหมือนกัน ไม่ถือว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ เมื่อได้เข้าใจหลักการต่างๆ  และที่มาของสิทธิมนุษยชนนี้แล้ว จะทำให้สามารถแยกแยะหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมได้ว่า กรณีใดเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ ละเมิดสิทธิ มนุษยชนอะไร และอาศัยหลักการ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
1. กรณีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นการละเมิดศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์และสิทธิในชีวิต
2. กรณีโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งไม่รับเด็กที่เป็นโปลิโอเข้าเรียนโดยอ้างว่าเป็นคนพิการ ไม่น่าจะเรียนได้เท่าเด็กปกติ เป็นการละเมิดหลักความเสมอภาคและการเลือกปฏิบัติ
3. กรณีกรมตำรวจออกจดหมายเตือนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ให้งดการวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เป็นการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของเสรีภาพของสื่อมวลชน
4. กรณีชาวเขาอยู่บนเขามาก่อนการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ แต่ทางราชการบังคับให้ย้ายออกเพราะกลัวว่าจะไปตัดไม้ทำลายป่า เป็นการละเมิดเสรีภาพในการเดินทางและเลือกถิ่นที่อยู่
5. กรณีหนังสือพิมพ์ลงภาพข่าวผู้หญิงถูกข่มขืนและนำเสนอข่าวการถูกข่มขืนอย่างละเอียด เป็นการละเมิดเสรีภาพในเกียรติยศ ชื่อเสียง และความเป็นส่วนตัว
6. กรณีรัฐบาลออกกฎหมายให้มีพรรคการเมืองของรัฐบาลเพียงพรรคเดียว เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมือง
7. กรณีรัฐบาลสร้างเขื่อนโดยไม่ให้ประชาชนรับรู้ข่าวสาร เป็นการละเมิดสิทธิที่จะรู้ข้อมูลข่าวสาร
8. กรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาให้รับสารภาพ เป็นการละเมิดสิทธิในชีวิตและร่างกายห้ามทรมาน
9. กรณีนายสุชาติ ชาวบุรีรัมย์ มาทำงานเป็นกรรมกรก่อสร้างในกรุงเทพฯ ได้ค่าจ้างวันละ 50 บาท เป็นการละเมิดสิทธิในการมีงานทำ และได้ค่าจ้างที่ยุติธรรม
10. กรณีชาวกะเหรี่ยงถือผี จัดพิธีเคารพเจดีย์ เจ้าป่าเจ้าเขา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้สั่งห้าม เป็นการละเมิดสิทธิในการถือศาสนา และสิทธิในการดำเนินกิจกรรมทางวัฒนธรรม







ที่มา : http://www.baanjomyut.com

กฎหมายกับสังคม

กฎหมายกับสังคม
          สังคมเป็นที่รวมของคนหมู่มากอาจมีทั้งคนดีและคนชั่วปะปนกันอยู่จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางระเบียบหรือกฎเกณฑ์แห่งความประพฤติของมนุษย์ในสังคมเพื่อให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสงบสุขระเบียบหรือกฎเกณฑ์เหล่านี้มีอยู่หลายอย่างด้วยกัน ได้แก่ ศีลธรรม ศาสนา จารีตประเพณีและกฎหมาย
          กฎหมาย  คือ กฎเกณฑ์ที่กำหนดความประพฤติของบุคคลในสังคมซึ่งบุคคลจะต้องปฏิบัติตามหรือควรจะปฏิบัติตาม มิฉะนั้นจะได้รับผลร้ายหรือไม่ได้รับผลดีที่เป็นสภาพบังคับโดยเจ้าหน้าที่ในระบบกฎหมายลักษณะของกฎหมายในปัจจุบัน สามารถจำแนกลักษณะของกฎหมายได้  4 ประการ คือ
กฎหมายต้องมีลักษณะเป็นกฎเกณฑ์  “กฎเกณฑ์” (Norm) หมายความว่ากฎหมายต้องเป็นข้อบังคับที่เป็นมาตรฐาน (Standard) ที่ใช้วัดและใช้กำหนดความประพฤติของสมาชิกของสังคมได้ว่าถูกหรือผิด ทำได้หรือทำไม่ได้ ตัวอย่างกฎเกณฑ์ เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 บัญญัติว่า “ผู้ใดเอาทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วยไปโดยทุจริตผู้นั้น กระทำความผิดฐาน ลักทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปีและปรับไม่เกินหกพักบาท” บทบัญญัตินี้เป็นข้อกำหนดความประพฤติของมนุษย์ว่า การลักทรัพย์ของผู้อื่นนั้นเป็นสิ่งที่ผิดไม่สมควรกระทำ เป็นต้น กฎหมายต้องกำหนดความประพฤติของบุคคล ความประพฤติ (Behavior) ได้แก่ การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกายภายใต้การควบคุมของจิตใจความประพฤติของมนุษย์ที่จะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายนั้นต้องประกอบไปด้วยเงื่อนไข 2 ประการคือ
- ต้องมีการเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวร่างกาย
- การเคลื่อนไหวหรือไม่เคลื่อนไหวนั้น กระทำภายใต้การควบคุมของจิตใจ
หากแม้มีการเคลื่อนไหวร่างกายแต่ไม่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ ตามกฎหมายก็ไม่ถือว่าเป็นการกระทำของมนุษย์ที่จะต้องรับผิดตามกฎหมาย เช่น การกระทำโดยละเมอ การกระทำโดยตื่นเต้นตกใจ เป็นต้น ส่วนการไม่เคลื่อนไหวร่างกายที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจ เช่น การที่แม่นิ่งเฉยเสียไม่ยอมให้นมหรืออาหารให้แก่ลูกทารก ทำให้ลูกเสียชีวิต เป็นต้น กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ สภาพบังคับ (Sanction) ของกฎหมาย คือมาตรการกำหนดผลของการกระทำตามกฎหมายหรือฝ่าฝืนไม่ยอมกระทำตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งสภาพบังคับที่เป็นผลร้าย เช่น การลงโทษทางอาญา ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญามี 5 สถาน คือ
1.ประหารชีวิต 
2.จำคุก        
3.กักขัง 
4.ปรับ 
5.ริบทรัพย์สิน
หรือการลงโทษทางแพ่ง เช่น การให้ส่งมอบทรัพย์สิน หรือการยึดทรัพย์สินของจำเลยนำออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ เป็นต้น หรือสภาพบังคับที่เป็นผลดีหากทำตามที่กฎหมายกำหนด เช่น รัฐลดภาษีเงินได้ให้แก่บุคคลที่ทำธุรกิจตามที่รัฐกำหนด เป็นต้น  โดยส่วนใหญ่แล้วคนมักเข้าใจว่ากฎหมายมีสภาพบังคับที่เป็นผลร้ายเท่านั้น
กฎหมายต้องมีกระบวนการที่แน่นอน จากการที่กฎหมายต้องมีสภาพบังคับ ซึ่งสภาพบังคับของกฎหมายนั้นจะต้องมีกระบวนการที่แน่นอนโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ การบังคับใช้กฎหมายก็ต้องกระทำโดยรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ รัฐสมัยใหม่จะไม่ยอมให้มีการบังคับกฎหมายโดยประชาชน เพราะจะทำให้คนที่แข็งแรงกว่าใช้กำลังบังคับคนที่อ่อนแอกว่า ซึ่งจะทำให้สังคมวุ่นวาย กระบวนการบังคับให้กฎหมายที่รวมศูนย์อยู่ที่รัฐนี้กระทำ โดยผ่านองค์กรต่าง ๆ เช่น ตำรวจ อัยการ ศาล และ ราชทัณฑ์ เป็นต้น
กฎหมายกับศีลธรรม
          ศีลธรรม คือ ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ภายในจิตใจของมนุษย์จะมีความรู้สึกผิดชอบมีสติปัญญาที่สามารถพิจารณาได้ว่าเมื่อได้ทำอะไรไปบุคคลอื่นอาจจะไม่ยินดีไม่ยินยอมอาจจะต่อสู้ ขัดขวางหรือมีการแก้แค้นได้ มนุษย์เราก็จะต้องระมัดระวังไม่กระทำในสิ่งที่อาจถูกคนอื่นตอบโต้หรืออาจจะถูกตำหนิ ติเตียนได้ ความรู้สึกระมัดระวังเหล่านี้จะเกิดขึ้นในจิตใจของมนุษย์เองว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำที่เราเรียกว่า ศีลธรรม
กฎหมายกับศีลธรรมมีความแตกต่างกันดังนี้
          กฎหมายเป็นข้อบังคับของรัฐ แต่ศีลธรรมเป็นความรู้สึกที่เกิดจากจิตใจของมนุษย์แต่ละคน
ข้อบังคับของกฎหมายกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นส่วนใหญ่ ส่วนศีลธรรมนั้นมิได้มีการกำหนดเป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด  กฎหมายกำหนดความประพฤติภายนอกของมนุษย์ที่แสดงออกมาให้เห็น แต่ศีลธรรมเป็นเพียงแต่คิดในทางที่ไม่ชอบก็ผิดศีลธรรมแล้ว กฎหมายนั้นผู้ฝ่าฝืนจะได้รับผลร้ายหรือถูกลงโทษแต่ศีลธรรมนั้นขึ้นอยู่กับความรู้สึกนึกคิดของคนๆ นั้นโดยเฉพาะโดยจะกระทบกระเทือนจิตใจของเขามากน้อยเพียงใดเท่านั้น  

ที่มา : http://www.baanjomyut.com/

หลักกฎหมายสิบสองโต๊ะ

กฎหมายสิบสองโต๊ะ (The Twelve Tables Law)
          ได้เริ่มจัดทำขึ้นเมื่อปี 450 ก่อนคริสต์ศักราช โดยรวบรวมกฎหมายที่มีความสำคัญและรู้จักกันอย่างกว้างขวางในสมัยนั้นเข้าเป็นหมวดหมู่ในรูปของการจารึกไว้บนโต๊ะทองเหลืองเพื่อนำไปตั้งไว้ใกล้กับที่สาธารณะกลางเมืองกฎหมายนี้ได้มีบทบัญญัติที่ครอบคลุมถึงกฎเกณฑ์ที่ควบคุมความประพฤติของสังคมโดยอาศัยจารีตประเพณีที่สั่งสมมาและศาสนาเป็นหลักสาเหตุการผลักดันให้มีการบัญญัติกฎหมายสิบสองโต๊ะเกิดจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างคน 2 ชนชั้น คือ ฝ่าย Patricians ซึ่งเป็นชนชั้นสูงได้แก่พวกผู้ปกครองและข้าราชการชั้นสูง และฝ่าย Plebeians ซึ่งเป็นชนชั้นที่ถูกปกครอง ได้แก่ ชาวนา ช่างฝีมือ พ่อค้าวานิช รวมทั้งเชลยศึก คนต่างด้าวและทาสซึ่งในการออกกฎหมายการบังคับใช้กฎหมายหรือการชี้ขาดตัดสินคดีเป็นอำนาจของ Patricians ทั้งสิ้น ก่อให้เกิดความไม่พอใจแก่พวก Plebeians ซึ่งไม่มีโอกาสได้ทราบว่ากฎหมายที่ใช้มีอยู่อย่างไรได้มีการเรียกร้องให้นำกฎหมายเหล่านั้นมาเขียนให้ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษร จนในราว 450 ปีก่อนคริสต์ศักราชจึงได้ทำการรวบรวมจารีตประเพณีที่ใช้เป็นกฎหมายอยู่ในขณะนั้นบันทึกลงบนแผ่นทองเหลือง 12 แผ่น ตั้งไว้ในที่สาธารณะใจกลางเมือง อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเริ่มต้นของหลักการที่ว่ากฎหมายควรเป็นสิ่งซึ่งเปิดเผยให้คนทั่วไปได้รู้ได้เห็นและศึกษาหาเหตุผลได้
          โต๊ะที่  1    โต๊ะที่  2 และ โต๊ะที่  3 เป็นเรื่องเกี่ยวกับวิธีพิจารณาความแพ่งและการบังคับคดี เช่น
ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดไม่มาศาลก่อนเที่ยงวัน ก็ให้ศาลพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่มาศาลชนะคดี
ถ้าหากคู่ความฝ่ายใดหาพยานไม่ได้ก็ให้ร้องตะโกนดังๆ ที่ประตูบ้านของตนเพื่อแสวงหาพยาน
ในคดีที่จำเลยยอมรับใช้หนี้สินหรือในคดีที่ศาลได้พิพากษาให้จำเลยใช้เงิน ก็ให้จำเลยชำระเงินภายใน 30 วัน
          โต๊ะที่  4 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของหัวหน้าครอบครัว เช่น
บิดาระหว่างที่มีชีวิตมีอำนาจเด็ดขาดเหนือบุตรอันชอบด้วยกฎหมาย บิดาอาจกักขังบุตรหรือเฆี่ยนตีหรือล่ามโซ่ ให้ทำงานหรือมีเหตุไม่ชอบใจจะฆ่าบุตรเสียก็ได้ตลอดจนจะเอาบุตรไปขายเสียก็ได้
ทารกคลอดออกมารูปร่างผิดปกติมากจะเอาไปฆ่าเสียก็ได้
          โต๊ะที่  5 โต๊ะที่  6   และ โต๊ะที่  7  เป็นเรื่องเกี่ยวกับมรดก และทรัพย์สิน เช่น
ชายผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวตายลงโดยมิได้ทำพินัยกรรมไว้ ให้ญาติฝ่ายชายที่ใกล้ชิดที่สุดเป็นผู้สืบทอดอำนาจต่อไป
ถ้าชายอิสระตายลงโดยไม่มีผู้สืบสันดาน (ผู้สืบสันดาน คือ ลูก หลาน เหลน) ให้ทรัพย์สินของชายคนนั้นตกแก่ผู้อุปถัมภ์
ผลไม้หล่นตกไปในบ้านของผู้อื่น เจ้าของต้นผลไม้ยังคงเป็นเจ้าของผลไม้นั้นอยู่
          โต๊ะที่  8 เป็นเรื่องเกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญา เช่น
ผู้ใดทำการโฆษณาหมิ่นประมาทว่าเขาทำผิดทางอาญาหรือทางลามกอนาจาร ให้เอาผู้นั้นไปตีเสียให้ตาย
ผู้ใดลักทรัพย์เวลาค่ำคืน ให้เอาไปฆ่าเสีย
ผู้ใดวางเพลิงบ้านเรือนเขาหรือกองข้าวสาลีของเขา ให้เอามาผูกแล้วเฆี่ยนและเผาเสียทั้งเป็น แต่ถ้าเกิดขึ้นด้วยความประมาท ให้เสียเงินค่าทำขวัญแล้วลงโทษพอควร
สัตว์สี่เท้าของผู้ใดเข้าไปทำให้ที่ดินเขาเสียหาย เขาจับยึดตัวสัตว์นั้นไว้เป็นของเขาได้ เว้นแต่เจ้าของสัตว์จะเสียเงินค่าไถ่ถอนกลับคืนมาตามราคาค่าเสียหาย
          โต๊ะที่  9 เป็นเรื่องเกี่ยวกับอำนาจของรัฐ เช่น
กฎหมายใดๆ จะก่อให้เป็นแต่ทางเสียหายอย่างเดียวแก่เอกชนนั้นห้ามไม่ให้มีผลบังคับใช้
รัฐสภาเท่านั้นที่มีอำนาจออกกฎหมายที่กระทบกระเทือนถึงสถานะของบุคคลได้
          โต๊ะที่  10 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายของศาสนา เช่น
ห้ามไม่ให้ฝังหรือเผาศพในเขตพระนคร  ห้ามมิให้หญิงขีดข่วนแก้ม ร้องไห้เกรียวกราวในงานศพ
          โต๊ะที่  11 และ โต๊ะที่  12 เป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายเพิ่มเติม เช่น
ห้ามมิให้บุคคลต่างชั้นวรรณะทำการสมรสกัน
เมื่อทาสทำการลักทรัพย์ หรือทำให้เกิดความเสียหายแก่เขา นายทาสต้องรับชดใช้ค่าเสียหายหรือส่งมอบตัวทาสให้เขาไป
กฎหมายที่ออกมาภายหลังย่อมยกเลิกกฎหมายเดิมที่มีข้อความขัดแย้งกัน  


 ที่มา : http://www.baanjomyut.com